อุโมงค์อ่างเก็บน้ำเยเรบาตันอลังการใต้พิภพแห่งนครอิสตันบูล , ตุรกี

หนึ่งในสถานที่ไม่ควรพลาดเมื่อไปเยือนกรุงอิสตันบูล เป็นส […]แบบนี้ต้องแชร์

หนึ่งในสถานที่ไม่ควรพลาดเมื่อไปเยือนกรุงอิสตันบูล เป็นสิ่งก่อสร้างในอดีตกาลที่ซ่อนความมหัศจรรย์เอาไว้ใต้ผืนพิภพ นั่นคือ “อ่างเก็บน้ำเยเรบาตัน” (Yerebatan) หรือ Basilica Cistern ซึ่งเป็นอุโมงค์น้ำขนาดมหึมาอันแสดงถึงความล้ำเลิศด้านวิศวกรรมและการชลประทานของคนยุคโบราณ

อ่างเก็บน้ำเยเรบาตัน ซ่อนอยู่ใต้ผืนดินของเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี หรือ ทูร์เคีย อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมัสยิดฮายาโซเฟีย (Hagia Sofia) สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 6 ยุคจักรพรรดิ จัสติเนียนัสที่ 1 แห่งอาณาจักรไบแซนไทน์

อ่างเก็บน้ำมีความยาว 140 เมตร กว้าง 70 เมตร ครอบคลุมพื้นที่สี่เหลี่ยมเป็นโครงสร้างคล้ายอุโมงค์ใต้ดินขนาดยักษ์ที่กักเก็บน้ำได้ราว 100,000 ตัน มีเสาหินอ่อนใต้ดิน และเคยเป็นมหาวิหาร (Basilica) ในอ่างน้ำ ผู้คนจึงเรียกอีกชื่อว่า Basilica Cistern โดยเสาหินขนาดใหญ่ใต้ดินที่ปรากฏ สันนิษฐานว่ารวบรวมมาจากโครงสร้างโบราณ และแกะสลักจากหินอ่อนมีลักษณะที่แตกต่างกันเป็นสถาปัตยกรรมสไตล์โครินเทียน และโดเรียน

หนึ่งในจุดที่น่าสนใจของอ่างเก็บน้ำใต้ดินแห่งนี้ คือ “หัวเมดูซ่า” จำนวน 2 หัว ซึ่งใช้เป็นฐานรองใต้เสาสองต้นที่ขอบด้านตะวันตกเฉียงเหนือ นับเป็นงานศิลปะชั้นยอดจากยุคโรมันที่ดึงดูดความสนใจผู้มาเยือน โดยเฉพาะการเป็นปริศนาของที่มาในการนำหัวเมดูซ่ามาใช้ ซึ่งนักวิจัยคาดว่าถูกนำมาเพื่อใช้เป็นฐานรองรับในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่อาจปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับตำนานของเมดูซ่า เพราะตามตำนานเล่าว่า เมดูซ่าเป็นหนึ่งในสัตว์ประหลาดเพศหญิงในโลกใต้ดินตามตำนานเทพเจ้ากรีก ซึ่งมีพลังอำนาจในการปลิดชีพคนที่บังเอิญมองเธอ ดังนั้นภาพเขียนและประติมากรรมจึงถูกนำมาใช้เพื่อปกป้องโครงสร้างขนาดใหญ่และสถานที่พิเศษต่างๆ ในยุคโบราณ การวางหัวเมดูซ่าลงในอ่างเก็บน้ำ จึงอาจเป็นความเชื่อทำเพื่อจุดประสงค์ในการปกป้องสถานที่แห่งนี้

ระหว่างการปกครองในยุคไบแซนไทน์ อ่างเก็บน้ำใช้ประโยชน์เพื่อรองรับพระราชวังใหญ่ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ที่จักรพรรดิประทับอยู่ ตลอดจนความต้องการน้ำของพลเมืองอื่นๆในภูมิภาค หลังจากการยึดครองเมืองอิสตันบูลในยุคออตโตมันในปี ค.ศ. 1453 น้ำลำเลียงส่งไปยังพระราชวังทอปกาปิที่สุลต่านอาศัยอยู่ ชาวออตโตมันนิยมจัดตั้งแหล่งน้ำของตนเองขึ้นในเมืองมากกว่า อ่างเก็บน้ำจึงค่อยๆหมดความสำคัญลงและถูกลืมเลือนไปในที่สุด จนกระทั่งกลางศตวรรษที่ 16 “พี. จิลลิอุส” (P. Gyllius) นักเดินทางชาวดัตช์ที่เดินทางมายังอิสตันบูล เพื่อเก็บข้อมูลทำวิจัยเกี่ยวกับซากปรักหักพังและโบราณสถานของยุคไบแซนไทน์ ได้ค้นพบ และแนะนำให้โลกได้รู้จักกับสถานที่แห่งนี้อีกครั้ง อ่างเก็บน้ำได้รับการปรับปรุงใหม่หลายครั้ง ตั้งแต่สมัยจักรวรรดิออตโตมัน เรื่อยมาจนถึงสมัยสาธารณรัฐ เทศบาลนครอิสตันบูลได้ปรับปรุงทำความสะอาดครั้งใหญ่ พร้อมสร้างเส้นทางเปิดให้เข้าชมจนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์สถานที่ท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเมือง

อ่างเก็บน้ำเปิดให้เข้าชมทุกวัน 9.00-19.00 น.

บัตรราคาเข้าชม 190 ลีรา (ประมาณ 390 บาท)

แกลลอรี่ภาพ